ยางรั่วฟังทางนี้! ปะยางวิธีไหนได้ผลดีที่สุด

อัพเดทเมื่อ Thu Sep 01 2022

https://tiresbid-images.s3.ap-southeast-1.amazonaws.com/2022-09-01/103121-1662003081-Cover-715x380-px--.webp
     เศษหินและเศษกรวดบนท้องถนนไม่เคยปรานีใคร ลองได้ขับรถทับลงไปก็มีอันต้องเรียกหาช่างปะยางกันให้วุ่น ปัจจุบันการปะยางแบ่งออกได้หลายวิธี แต่ละวิธีก็มีข้อดี - ข้อเสียต่างกันไป มาดูกันว่า รอยรั่วที่กำลังกวนใจคุณอยู่ในขณะนี้ ปะยางแบบไหนดีที่สุด!

1.    ปะยางแบบแทงไหม
การปะยางแบบแทงไหม หรือเรียกอีกอย่างว่า “ตัวหนอน” เหมาะสำหรับใช้เพื่อแก้ปัญหาชั่วคราว โดยทั่วไปมักใช้กับรถจักรยานยนต์ เพราะสามารถจัดการได้ง่ายในเวลาอันสั้น ขั้นตอนทั้งหมดจะเริ่มที่การดึงสิ่งแปลกปลอมออกจากยาง แล้วขยายรูรั่วให้กว้างขึ้นด้วยเหล็กแท่งยาว ก่อนนำใยไหมมาแทงซ้ำลงไปเพื่ออุดรอยรั่ว และตัดแต่งไหมส่วนเกินให้เรียบพอดีกับหน้ายาง ข้อดีของการปะยางแบบนี้ คือสะดวก รวดเร็ว และไม่ต้องถอดล้อรถ แต่ข้อเสียคือไม่คงทน และยังมีรอยเล็ก ๆ ให้อากาศไหลผ่านได้ จึงไม่เหมาะกับรอยรั่วใหญ่ ๆ หรือยางของรถที่ต้องบรรทุกของหนัก ๆ

2.    ปะยางแบบสตรีมร้อน
สำหรับรถยนต์หรือรถบรรทุกขนาดใหญ่ เมื่อประสบปัญหายางรั่ว ช่างมักเลือกใช้การปะยางแบบสตรีมร้อน เนื่องจากทนทานกว่าและสามารถใช้งานต่อได้จนยางเสื่อมสภาพ การปะยางด้วยวิธีนี้จะเริ่มจากการถอดล้อออกจากรถ และใช้แผ่นยางขนาดเล็กปิดทับรอยรั่วจากด้านใน จากนั้นใช้ความร้อนสมานแผ่นยางกับตัวยางให้เป็นเนื้อเดียว ข้อดีคือทนทานกว่าแบบแทงไหม แต่ข้อเสียคือความร้อนที่ใช้อาจส่งผลต่อโครงสร้างยาง ซึ่งอาจทำให้ยางบวมจนเสียรูปทรงได้

3.    ปะยางแบบสตรีมเย็น
การแก้ไขปัญหายางรั่ววิธีสุดท้าย คือการปะยางแบบสตรีมเย็น ซึ่งจะต้องถอดล้อรถและใช้แผ่นยางปิดทับรอยรั่วจากด้านในเช่นเดียวกับแบบสตรีมร้อน แต่มีข้อแตกต่างเล็กน้อย ตรงที่ใช้กาวแบบพิเศษเพื่อปิดทับรอยรั่ว รีดให้แน่น และรอให้แห้ง โดยไม่ต้องใช้ความร้อน ข้อดีคือยางจะไม่เสียรูปทรง แต่ข้อเสียคือใช้เวลานาน และต้องระวังเรื่องการบรรทุกน้ำหนัก 

“ปะยางแบบไหนดี?” คือคำถามที่มาพร้อมความกังวล เพราะทำให้การสัญจรต้องหยุดชะงัก และทำให้คุณต้องเสียเวลา จะดีกว่าไหม? หากทุก ๆ กิโลเมตรบนท้องถนนของคุณจะมีแต่ความสบายใจ และไม่ต้องกังวลกับปัญหานี้ Drive Car Rental ขอแนะนำบริการรถเช่าคุณภาพดี ทั้งรถเช่ารายวันและรถเช่ารายเดือน การันตีตรวจเช็กสภาพรถอย่างสม่ำเสมอ พร้อมบริการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง

ขอบคุณข้อมูลจาก
Sanook, ktn