รถทดแทน รถใช้ระหว่างซ่อมรถคืออะไร คนทำประกันรถยนต์ต้องรู้

อัพเดทเมื่อ Wed Jan 18 2023

https://tiresbid-images.s3.ap-southeast-1.amazonaws.com/2023-01-18/100554-1674011154-header.webp
     รู้มั้ยว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุใด ๆ ที่ตัวรถต้องเสียหายจนต้องเคลมเข้าอู่ การมีรถใช้ระหว่างซ่อม หรือที่บริษัทประกันเรียกว่ารถทดแทนระหว่างซ่อม จะช่วยให้คุณมีรถใช้งานต่อไปได้ ไม่ว่าจะทำงานหรือเดินทางไปเที่ยวในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เนื่องจากมีบริษัทประกันภัย “บางแห่ง” เข้าใจถึงความไม่สะดวกของลูกค้าในตอนที่ไม่มีรถใช้ อยู่ระหว่างซ่อมรถ จึงมีข้อเสนอพิเศษเพื่อลูกค้าประกันในการให้รถใช้ระหว่างซ่อม ในบทความนี้เราจึงมาว่าด้วยเรื่อง รถใช้ระหว่างซ่อม รถเช่า รถทดแทนระหว่างซ่อม การเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่คนทำประกันรถยนต์ต้องรู้

บริการ รถทดแทนระหว่างซ่อม คืออะไร ?

     ในส่วนของ “รถทดแทน” ถือเป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ ที่ทางบริษัทประกันภัยมอบให้กับผู้เอาประกันภัย ซึ่งอาจเป็นบริการเสริมเฉพาะบางบริษัทประกันเท่านั้น ให้กับลูกค้าที่รถเกิดอุบัติเหตุชนและเป็น “ฝ่ายถูก” เท่านั้น สำหรับคนที่กำลังกังวลว่ารถใช้ระหว่างซ่อมของทางบริษัทประกันภัยจะมีน้อย ไม่เพียงพอต่อผู้เอาประกัน สามารถสบายใจได้เลย เพราะแต่ละบริษัทมี “บริการเช่ารถ” รองรับลูกค้าทุกคนได้เป็นอย่างดี รับประกันว่าคุณจะมีรถทดแทนไว้ใช้งานระหว่างซ่อมรถแน่นอน

     ระยะเวลาในการให้ยืมรถใช้ระหว่างซ่อม ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 3-10 วัน ซึ่งสามารถดูได้ตามที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัย (ย้ำว่า! ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทประกัน) โดยผู้เอาประกันสามารถใช้สิทธิขอยืมรถใช้ระหว่างซ่อมได้ “ทันที” ตามวันที่นำรถเข้าศูนย์ซ่อม

     รถทดแทนระหว่างซ่อม “ไม่ได้มีทุกแผนประกัน” แนะนำให้สอบถามรายละเอียดให้ดี หรือหากคุณต้องการบริการนี้ การเลือกซื้อเพิ่มเข้าไปในแผนประกันภัยก็ทำได้เช่นกัน


เงื่อนไขการให้บริการรถทดแทน รถใช้ระหว่างซ่อมของประกันรถยนต์

     การใช้สิทธิรถทดแทนระหว่างซ่อม จะสามารถใช้ได้เฉพาะผู้ที่ทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 1, 2+ และ 3+ เท่านั้น ประกอบกับมีใบอนุญาตใบขับขี่รถยนต์ที่ไม่หมดอายุ และผู้เช่า (ผู้เอาประกันฝ่ายถูก) ยินยอมวางมัดจำค่าประกันความเสียหายกรณีเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงยินยอมจ่ายค่าเสียหายส่วนแรก ตามเงื่อนไขที่ทางบริษัทประกันภัยได้กำหนดไว้ ที่สำคัญ! จะต้องนำเอกสารมาให้ครบถ้วน

“รถทดแทน” เป็นรถประเภทใดบ้าง ? และมีขั้นตอนเป็นอย่างไร ?

     ในกรณีรถคันที่ทำประกันเป็นเก๋งทั่วไป คุณสามารถเลือกรับรถทดแทนขนาดเครื่องไม่เกิน 1,500 cc. แต่ถ้าหากรถคันที่ทำประกันเป็นรถกระบะ สามารถเลือกรับรถทดแทนขนาดเครื่องไม่เกิน 2,500 cc. แต่ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบริษัทด้วยเช่นกัน

     หลังจากที่คุณได้รับสิทธิใช้รถทดแทนระหว่างซ่อมแล้ว ลำดับต่อมาคือ “การนัดหมายจองรถล่วงหน้า” กับบริษัทให้เช่ารถ ด้วยการแสดงใบขับขี่ในวันรับรถ พร้อมวางเงินมัดจำสำหรับเช่ารถ โดยจะเป็นไปตามเงื่อนไขการให้บริการของบริษัทเช่า และบริษัทประกันภัยรถยนต์ จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าเช่ารถตามสิทธิที่คุณได้รับ แต่ถ้าหากต้องการยกเลิกการจองเช่ารถ คุณจะต้องทำการแจ้งบริษัทเช่ารถให้ทราบล่วงหน้า 24 ชั่วโมง

     *หากคุณอยู่นอกพื้นที่ให้บริการของบริษัทเช่ารถ ทางบริษัทประกันภัยจะ “ชดเชยเป็นเงินสด” ให้คุณ ในจำนวนไม่เกินวันละ 500 บาท ตามจำนวนวันที่คุณได้รับสิทธิ

สิทธิประโยชน์อื่น ๆ เมื่อรถต้องเข้า “เคลม”

     หลายคนอาจจะว้าวในส่วนของ “รถทดแทนระหว่างซ่อม” หรือ “รถใช้ระหว่างซ่อม” มาบ้างแล้ว แต่คุณรู้ไหมว่าในกรณีที่คุณเป็นฝ่ายถูก คุณยังสามารถเรียก “ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ” ได้อีกด้วย ซึ่งในวันนี้จะพาคุณไปทำความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้นเพราะสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้ คุณจะต้อง “เรียกร้องด้วยตัวเอง” บริษัทประกันใด ๆ ก็ตามของคู่กรณีที่เป็นฝ่ายผิดของคุณ จะไม่เสนอสิทธิประโยชน์นี้ให้คุณก่อนอย่างแน่นอน


ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถคืออะไร ?

     ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ คือ “เงินค่าชดเชย” ที่ทางบริษัทประกันภัยรถยนต์ของ “ฝ่ายผิด” ต้องชดใช้ให้กับคุณซึ่งเป็นฝ่ายถูก เนื่องจากเสียประโยชน์ที่ไม่มีรถใช้ระหว่างซ่อมรถ ในส่วนนี้ผู้ที่เป็นฝ่ายถูกอย่างคุณ จะต้องเป็นคน “เรียกร้องสิทธิ์ค่าขาดประโยชน์” กับบริษัทประกันของฝ่ายผิดด้วยตัวเอง แต่ฝ่ายผิดต้องมีการทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจเสียก่อน คุณถึงจะสามารถเรียกร้องค่าชดเชยในส่วนนี้ได้

สิ่งที่ “ควรทำ” ก่อนเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ
●    หลังจากเกิดอุบัติเหตุ ให้คุณทำการโทรแจ้งบริษัทประกัน พร้อมกับถ่ายรูปสภาพตัวของคุณและของคู่กรณี รวมถึงใบเคลมประกันของทางคู่กรณี ที่ระบุว่าเป็นของบริษัทไหน และเบอร์โทรติดต่อของประกันรถยนต์บริษัทนั้นๆ
●    นำใบเคลมประกันของคุณ พร้อมกับรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุเข้าไปซ่อมที่ศูนย์ หรืออู่ในเครือได้ทันที และควรทำสำเนาเอกสารไว้ด้วย
●    เมื่อรถซ่อมเสร็จแล้ว ควรมีการขอสำเนาเอกสารรายการซ่อม พร้อมทั้งใบรับ-ส่งรถ ที่ระบุวันที่ชัดเจน เพื่อประกอบเอกสารที่จำเป็นต้องใช้สำหรับเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ

ขั้นตอนขอค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ
1.    ติดต่อบริษัทประกันภัยของคู่กรณี จากนั้นให้ยืนยันคำเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ในช่วงเวลาที่รถของคุณกำลังซ่อมอยู่
2.    เมื่อบริษัทของคู่กรณีแจ้งเอกสารที่ต้องการ ให้คุณจัดการนำเอกสารต่าง ๆ จัดส่งไปยังบริษัทของคู่กรณี เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
3.    รอบริษัทคู่กรณีติดต่อกลับมา เนื่องจากต้องทำการเช็คข้อมูล เพื่อพิจารณาว่าต้องชดเชยให้กับคุณเป็นเงินเท่าไหร่ ทำการประเมิน และเจรจาต่อรอง
4.    หลังจากที่ตกลงกันเสร็จเรียบร้อย ก็รอรับค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถได้เลย

     “ระยะเวลารอคอย” จะขึ้นอยู่กับการดำเนินงานของแต่ละบริษัทประกันภัย หากรอแล้วพบว่าใช้เวลาเป็นเดือน แนะนำให้โทรสอบถามผลพิจารณาเป็นระยะ ๆ

     ในกรณีที่บริษัทประกันของคู่กรณีบ่ายเบี่ยง ไม่ยอมที่จะจ่ายค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถให้กับคุณ หรือตกลงค่าขาดประโยชน์กับทางบริษัทประกันคู่กรณีไม่ได้ คุณสามารถส่งเรื่องฟ้องต่อไปยัง คปภ. ให้ช่วยดำเนินการให้ได้เช่นกัน


เอกสารที่จำเป็นต้องใช้ สำหรับเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ มีอะไรบ้าง ?

1.    ใบเสนอรายการความเสียหายของรถยนต์
2.    ใบเคลม (ใบรองรับความเสียหายต่อทรัพย์สิน)
3.    สำเนาตารางกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์
4.    สำเนาทะเบียนรถยนต์
5.    สำเนาใบขับขี่รถยนต์
6.    สำเนาบัตรประชาชน
7.    ใบรับรถ หรือหนังสือส่งมอบรถเสร็จ
8.    รูปถ่ายตอนซ่อม
9.    รูปถ่ายความเสียหาย
10.    หนังสือเรียกร้องสินไหมค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อม
11.    สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคารของผู้เอาประกัน

     เพื่อตามเรื่องอย่างรวดเร็ว และไม่ต้องไปหลาย ๆ รอบ แนะนำให้เตรียมเอกสารให้ครบถ้วนภายในครั้งเดียว และเมื่อเดินทางไปติดต่อเรื่องการเคลมค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อมแล้ว ให้ทำการขอ “ชื่อและเบอร์ติดต่อ” ของเจ้าหน้าที่กลับมาด้วย เพื่อให้สามารถตามเรื่องได้ถูกคน ถูกแผนก

เรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ ได้เท่าไหร่บ้าง ?

สำหรับการเรียกค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ มีอัตราขั้นต่ำของการเรียกร้องค่าชดเชย ตามประกาศ คปภ. วันที่ 1 มกราคม 2562 เพื่อไม่ให้บริษัทประกันเจรจาจ่ายในจำนวนที่ “ต่ำเกินไป” ดังนี้

●    รถยนต์ไม่เกิน 7 ที่นั่ง (รวมผู้ขับขี่) อัตราชดเชยไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท
●    รถยนต์รับจ้างสาธารณะไม่เกิน 7 ที่นั่ง (รวมผู้ขับขี่) อัตราชดเชยไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท
●    รถยนต์เกิน 7 ที่นั่ง (รวมผู้ขับขี่) อัตราชดเชยไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท

การเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ สามารถเรียกร้องได้เฉพาะรถยนต์ที่ทำประกันภัยรถยนต์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เท่านั้น


เป็น “ฝ่ายผิด” แต่อยากมีรถทดแทนระหว่างซ่อม ต้องทำอย่างไร ?

     อย่างที่ทราบกันดีว่า การที่คุณจะสามารถใช้สิทธิรถทดแทนระหว่างซ่อมได้นั้น คุณจะต้องเป็นฝ่ายที่ถูกเท่านั้น หรือถ้าหากคุณได้รับสิทธิ ในท้ายที่สุดก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มอยู่ดี ดังนั้นการตัดสินใจใช้ “บริการรถเช่า” จึงถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะจะดีกว่าแค่ไหน ? หากคุณมองหารถเช่าระหว่างซ่อมที่ให้บริการที่สบายใจกว่า แถมยังสามารถเลือกประเภทรถได้เอง เลือกจำนวนวันที่นำรถไปใช้ได้ ที่สำคัญ! สามารถเลือกงบประมาณได้ตามที่พอใจ และไม่ต้องคอยยุ่งยากกับปัญหาจุกจิกกับบริษัทประกันด้วย

บริการรถทดแทนจากรู้ใจ สบายใจแถมประหยัดกว่า

     ข่าวดีสำหรับใครที่รถเคลมอยู่ที่อู่แล้วไม่มีรถใช้ระหว่างซ่อม รู้ใจมีบริการรถทดแทนระหว่างซ่อมให้คุณเลือก กรณีรถกำลังซ่อมในเงื่อนไขของประกันภัย หากคุณของคุณต้องเข้าซ่อมในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ คุณสามารถเลือกใช้บริการนี้ได้โดยจะไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เพิ่มเติม (สำหรับ 15 วันแรก) หลังจากนั้นราคาวันละ 599 บาท สำหรับบริการรถเช่าที่ซื้อหลังวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565

     ส่วนอีกกรณี หากรถยนต์ของคุณไม่ได้ประสบอุบัติเหตุ แต่ต้องการใช้รถเช่า ลูกค้าของรู้ใจสามารถเลือกใช้ “บริการรถเช่า” ได้ในราคาที่ประหยัดกว่าเพียงวันละ 699 บาท แบบไม่จำกัดจำนวนวัน เทียบกับเช่ารถทั่วไปแล้วถือเป็นราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดที่เฉลี่ยวันละ 1,000 บาท

     อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เชื่อว่าหลายคนก็คงจะเห็นถึง “ความสำคัญ” ของการทำประกันรถยนต์กันพอสมควรแล้ว เพราะถึงแม้ว่าคุณจะมีความเชี่ยวชาญในการขับหรือควบคุมรถ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสประสบอุบัติเหตุ จนถึงขั้นต้องนำรถเข้าศูนย์แต่อย่างใด นอกจากจะต้องเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุม และตอบโจทย์ให้ได้มากที่สุดแล้ว ก็อย่าลืมเรียกร้องสิทธิ์ของตัวกันด้วย เพราะการมีรถใช้ระหว่างซ่อม จะช่วยให้คุณใช้งานประกันรถยนต์ของคุณได้อย่างคุ้มค่า และการเรียกร้องค่าขาด

     ประโยชน์จากกรณีที่คุณเป็นฝ่ายถูกในเหตุรถชน ก็จะทำให้คุณได้รับการเยียวยาที่สมเหตุสมผล ทดแทนการเสียเวลาและความรู้สึกจากอุบัติรถชนได้ในระดับหนึ่ง

     สามารถติดตามข่าวสาร สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รวมถึงประกันภัยออนไลน์ต่าง ๆ จากรู้ใจได้ที่ Facebook Page: Roojai หรือคลิกที่นี่เพื่อเพิ่มเราเป็นเพื่อนใน LINE ได้เลย (Official Line ID: @roojai)